นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ หัวหน้าทีมกลยุทธ์ตลาดการเงินและวางแผนการลงทุน EASY INVEST บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ (SCBS) เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดเช้าวันนี้ 29.98 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อนที่ 30.01 บาทต่อดอลลาร์ ประเมินกรอบเงินบาทระหว่างวัน 29.90-30.10 บาทต่อดอลลาร์
ตลาดการเงินสหรัฐฟื้นตัวในคืนที่ผ่านมา ดัชนี S&P 500 ปรับตัวขึ้น 1.76% หลังการประกาศตัวเลขจีดีพีไตรมาสสี่ที่ขยายตัว 4.0% จากไตรมาสก่อน (ปรับเป็นรายปี) หนุนการลงทุนหุ้นขนาดใหญ่ ส่วนฝั่งยุโรปกลับไม่คึกคักโดยดัชนีSTOXX 600 ทรงตัว (+0.01%) เนื่องจากมีข้อถกเถียงเรื่องการแจกจ่ายวัคซีนในหลายประเทศ ขณะที่ภาพรวมดัชนีวัดความกลัวอย่าง VIX Index อยู่ในระดับสูงกว่า 30% ชี้ว่าตลาดกังวลกับความผันผวน จากประเด็นที่นักลงทุนรายย่อยกู้เงินมาเก็งกำไรหุ้นขนาดเล็กมากขึ้น
ฝั่งตลาดเงินบอนด์ยีลด์สหรัฐอายุสิบปีฟื้นขึ้น 5bps มาที่ระดับ 1.06% หลังการรายงานเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core PCE) ในสหรัฐที่สูงขึ้น 1.4% จากไตรมาสก่อน พร้อมกับตัวเลขผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานใหม่ (Initial Jobless Claims) ที่ปรับตัวลงแตะระดับ 8.47 แสนตำแหน่ง สะท้อนภาพรวมเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัว และภาพตลาดที่เปิดรับความเสี่ยง(Risk On) กดดันเงินดอลลาร์และเยนญี่ปุ่น (JPY) ซึ่งเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยให้อ่อนค่าลง 0.2% เมื่อเทียบกับสกุลเงินความเสี่ยงสูง
ด้านเงินบาทในระยะสั้นเคลื่อนไหวในกรอบแคบ โดยนักลงทุนไม่ได้ให้ความสำคัญกับความเคลื่อนไหวในตลาดทุนแต่จับตาไปที่แนวโน้มการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลสหรัฐไปจนถึงการควบคุมการระบาดของไวรัสในประเทศเป็นหลัก ส่วนในระหว่างวัน เป็นผู้ส่งออกที่ทยอยขายเงินดอลลาร์สวนกับนักทุนต่างชาติที่ขายทำกำไรหุ้นและบอนด์ไทยมองว่าในช่วงนี้เงินบาทไม่มีความผันผวนมาก เนื่องจากตลาดเน้นเก็งกำไรหุ้นฝั่งสหรัฐมากกว่าฝั่งเอเชีย
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงินธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า กรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 29.95-30.05 บาทต่อดอลลาร์ ในฝั่งเงินบาท ยังคงมีทิศทางเคลื่อนไหวในกรอบตามเงินดอลลาร์ และทิศทางของฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ ที่เริ่มเทขายหุ้นไทยมากขึ้น
นอกจากนี้ ในช่วงปลายเดือน ผู้นำเข้ายังคงทยอยเข้ามาแลกเงินบาท โดยผู้นำเข้าส่วนมากรอเข้าซื้อเงินดอลลาร์ หากเงินบาทแข็งค่าใกล้ระดับ 29.95 บาท/ดอลลาร์ ทำให้เงินบาทจะยังไม่แข็งค่าไปมากในระยะสั้น ส่วนผู้ส่งออกก็รอขายเงินดอลลาร์ที่ระดับ 30.05บาทต่อดอลลาร์ ทำให้เงินบาทจะยังคงเคลื่อนไหวในกรอบใกล้ระดับ 30 บาทต่อดอลลาร์+/- 5 สตางค์
ตลาดการเงินพลิกกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น หลังผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนโดยรวมยังคงเติบโตได้ดี ขณะเดียวกัน ตลาดก็คลายความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ หลังจากที่รายงานข้อมูลเศรษฐกิจจากฝั่งสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด โดย ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) เพิ่มขึ้นเพียง 8.5 แสนราย ลดลงจากกว่า 9.1 แสนรายในรายงานก่อนหน้า นอกจากนี้ เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 4 ก็ยังสามารถขยายตัวได้ 4% จากไตรมาสก่อนหน้า ท่ามกลางปัญหาการระบาดของ COVID-19
การเปิดรับความเสี่ยงดังกล่าวของตลาด ได้ช่วยหนุนให้ตลาดหุ้นส่วนใหญ่รีบาวด์จากที่ปิดลบหนักในวันก่อน โดยดัชนี S&P500 ของสหรัฐฯ เด้งขึ้น 0.9% เช่นเดียวกับ ดัชนีหุ้น STOXX50 ของยุโรป ก็รีบาวด์ขึ้น 0.6% ขณะที่ ผู้เล่นในตลาดก็กลับมาลดสถานะการถือครองสินทรัพย์ปลอดภัยลง ทำให้บอนด์ยีลด์10ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นกว่า 3bps เข้าใกล้ระดับ 1.05% ส่วน เงินดอลลาร์ก็อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ทำให้ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวลง0.12% แตะระดับ 90.54จุด โดยสกุลเงินที่อ่อนไหวกับตลาด อย่าง ออสเตรเลียดอลลาร์ (AUD) แข็งค่าขึ้นกว่า 0.3% สู่ระดับ 0.769 ดอลลาร์ต่อ AUD ส่วน ยูโร แข็งค่าขึ้น 0.12 สู่ระดับ 1.21ดอลลาร์ต่อยูโร นอกจากนี้ สินทรัพย์ทางเลือกที่สามารถเป็นตัวแทนความกล้าเปิดรับความเสี่ยงของตลาด อย่าง บิทคอยน์ (Bitcoin) ก็กลับตัวพุ่งขึ้น 6.2% แตะระดับ32,912 ดอลลาร์อีกครั้ง
พอร์ตหุ้น
สำหรับวันนี้ ตลาดจะยังคงติดตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจทั่วโลก เพื่อวิเคราะห์แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยในฝั่งยุโรป การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยูโรโซนยังคงเผชิญแรงกดดันจากการระบาดของ COVID-19 ระลอกที่ 2 ทำให้เศรษฐกิจเยอรมนีในไตรมาส 4 จะหดตัว 4% จากระยะเวลาเดียวกันปีก่อน ส่วนในฝั่งเอเชีย การจัดการวิกฤติCOVID-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพของไต้หวันจะช่วยให้ เศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4 โตถึง 3.4%จากปีก่อนหน้า ทำให้ทั้งปี 2020 เศรษฐกิจโตได้ราว 2.5% นอกจากนี้ เรามองว่า ตลาดจะติดตามรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนต่อ ซึ่งผลประกอบการที่แย่กว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ อาจกดดันให้ผู้เล่นในตลาดต่างขายทำกำไรสินทรัพย์เสี่ยง กดดันให้ตลาดกลับมาผันผวนอีกรอบได้
เรามองว่า ในระยะสั้น ตลาดการเงินมีแนวโน้มผันผวนสูงอยู่ เนื่องจากปัจจัยความเสี่ยง โดยเฉพาะปัญหาการระบาดของ COVID-19 และความล่าช้าของการแจกจ่ายวัคซีนยังคงอยู่ ขณะที่ปัจจัยบวก เช่น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่หรือ นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้นของบรรดาธนาคารกลาง ยังไม่แน่นอนอยู่ ทำให้ตลาดสามารถพลิกกลับไปปิดรับความเสี่ยงได้ทุกเมื่อ สลับกับการเปิดรับความเสี่ยง หากมีปัจจัยบวกเข้ามา จึงมองว่า เงินดอลลาร์มีแนวโน้มแกว่งตัวในกรอบและพร้อมแข็งค่าขึ้นจากความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยเพื่อหลบความผันผวนของตลาดในระยะสั้น